Online  ระเบียบปฏิบัติต่างๆ  :: การตรวจวิชาแปลมคธเป็นไทย, แปลไทยเป็นมคธ และ สัมพันธ์ไทย
การตรวจวิชาแปลมคธเป็นไทย, แปลไทยเป็นมคธ และ สัมพันธ์ไทย :: Back :: :: Next ::
การตรวจ
วิชาแปลมคธเป็นไทย
แปลไทยเป็นมคธ
และสัมพันธ์ไทย

การตรวจวิชาแปลมคธเป็นไทย, แปลไทยเป็นมคธ และ สัมพันธ์ไทย

         ๑. แปลผิดศัพท์ หรือเรียกชื่อสัมพันธ์ผิดในวิภัตติเดียวกัน เช่น สัตตมีวิภัตติ มีชื่อเรียกอาธารหลายแห่ง ศัพท์ที่สัมพันธ์ที่ถูกเป็นอุปสิเลสิการธาร แต่เรียนผิดเป็นวิสยาธารไป ดังนี้ชื่อว่าผิดศัพท์
         ๒. แปลเสียสัมพันธ์ หรือเรียกชื่อสัมพันธ์ผิดต่างวิภัตติ เล่นเรียกอาธารเป็นสัมพันธะ หรือสัมพันธ์เข้าที่ผิดในประโยคเดียวกัน ชื่อว่าผิดสัมพันธ์
         ๓. แปลสับประโยค หรือสัมพันธ์สับประโยค เช่นเอาประโยคเลขนอกกับ ประโยคเลขในปนกันก็ดี ใช้ประธานกับกิริยาผิดบุรุษกันก็ดี แปลหรือสัมพันธ์ผิดจนไม่เป็นรูปก็ดี เหล่านี้ชื่อว่าผิดประโยค

         การเก็บคะแนน
                 ผิดศัพท์ ๑ ศัพท์ เก็บ ๑ คะแนน
                 ผิดสัมพันธ์ ๑ แห่ง เก็บ ๒ คะแนน
                 ผิดประโยค ๑ ประโยค เก็บ ๖ คะแนน

         การปรับ
                 นับคะแนนที่เก็บแล้วนั้น ๆ รวมกันเข้า
                 ผิด ๑ ถึง ๖ ให้ ๓
                 ผิด ๗ ถึง ๑๒ ให้ ๒
                 ผิด ๑๓ ถึง ๑๘ ให้ ๑
                 ผิดเกิน ๑๘ ลง ๐ ทั้งหมด

         แต่ข้อว่า “แปลหรือสัมพันธ์ผิดจนไม่เป็นรูป” นั้น
                 ถ้าประโยคยาวกว่า ๓ บรรทัด นับเป็นผิดเกิด ๑๘
                 ถ้าประโยคยาวไม่เกิน ๓ บรรทัด นับเป็นผิด ๑๘
                 ถ้าประโยคยาวไม่เกิน ๒ บรรทัด นับเป็นผิด ๑๒
                 ถ้าประโยคยาวไม่เกิน ๑ บรรทัด นับเป็นผิด ๖

         แต่ข้อสำคัญต้องสันนิษฐานว่าผู้แปลมีความรู้สมกับชั้นประโยคนั้นหรือไม่ เช่นประโยค ป.ธ.๖ ถึง ป.ธ.๙ จัดเป็นประโยคสูง ถ้าจะต้องเก็บคะแนนหยุมหยิม จนเกินถึง ๑๘ จึงเป็นตก ก็ดูเป็นตรวจภูมิรู้ของนักเรียนแรกศึกษาไป ไม่สมภูมิ ฉะนั้นแม้ถึงผิดยังไม่เต็มเกณฑ์ กำหนด แต่เห็นมีความรู้ไม่สมชั้นก็เอาเป็นตก

         ขอกรรมการทุกรูป จงหนักในกฎเกณฑ์ เพื่อความสม่ำเสมอ

พระพรหมมุนี

(พระพรหมมุนี)
แม่กองบาลีสนามหลวง
๑๖ พฤษภาคม ๒๔๘๗


        
:: Home ::